มายาคติกับความเชื่อทางวัตถุในพุทธศาสนา

มายาคติกับความเชื่อทางวัตถุในพุทธศาสนา
วัตถุต่างๆที่มีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับศาสนา ย่อมมีมายาคติเกิดขึ้นควบคู่กันไปเสมอ เพราะมายาคติ คือ “การสื่อความหมายด้วยคติความเชื่อทางวัฒนธรรมแต่ถูกกลบเกลื่อนให้เป็นที่รับรู้เสมือนว่าเป็นธรรมชาติ" รวมถึงการทำงานของมายาคติ คือ “การเข้าไปครอบงำความหมายเชิงผัสสะและประโยชน์ใช้สอยของสรรพสิ่ง แล้วทำให้มันสื่อความหมายใหม่ในอีกระดับหนึ่งซึ่งเป็นความหมายเชิงค่านิยมและอุดมการณ์”

วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2553

ความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์

ในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวผู้เขียน มีความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ที่จะให้ผลงานเป็นสื่อสะท้อนไปให้เห็นถึง สาระที่จริงแท้ในตัวศิลปะวัตถุและพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยมุ่งหวังเพื่อการจรรโลงจิตใจให้ผู้คนหวนคิดถึงความจริงแท้ที่อยู่ลึกลงไปในตัววัตถุ ตัวพิธีกรรม อันเป็นสัจธรรม มีความบริสุทธิ์ด้วยตัวมันเองโดยมีคติความเชื่อหรือมายาคติบางส่วนที่เป็นสิ่งชักนำ ปูพื้นฐานในการทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระที่ลึกซึ้งขึ้นต่อไป

การเปลี่ยนที่อยู่ของพระพุทธรูป จากภายในวัด จากบนแท่นพระประธาน จากภาพจิตรกรรมฝาผนังมาอยู่ในหอศิลป์บนงานศิลปะ บทบาท หน้าที่ ความสำคัญ ขององค์พระพุทธรูปจะถูกปรับเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน นัยยะของพระพุทธรูปในหอศิลป์ไม่ใช่เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ศรัทธา แต่จะเป็นนัยยะเชิงสุนทรีย ความงาม ความหมาย ของการหยิบจับแง่มุมในการนำเสนอที่ตอบโจทย์ทางความคิดของคนทำงานศิลปะเข้ามาแทนที่ แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ก็คือ คติความเชื่อที่แฝงมากับองค์พระพุทธรูป ซึ่งสิ่งนี้ก็คือ มายาคติ นั้นเอง


ทัศนะเบื้องต้นได้กล่าวมา ตั้งอยู่บนเจตนาที่ดี มายาคติกับรูป-วัตถุในพุทธศาสนา ณ ที่นี้ มิได้ต้องการปฏิเสธหรือต่อต้าน วัตถุหรือพิธีกรรมต่างๆ สิ่งเหล่านี้ต้องดำรงอยู่เพราะมีความสำคัญเปรียบเสมือนบันไดขั้นแรกที่จะก้าวไปสู่ขั้นที่สูงขึ้น การนำเสนอในนัยยะของผู้เขียนนี้ เป็นการสะท้อนมุมมองและความคิดหนึ่ง ที่เมื่อบุคคลได้ตระหนักรับรู้ถึงมายาคติที่แฝงอยู่ในวัตถุ ในพิธีกรรมนั้นๆแล้ว ก็ไม่ควรไปยึดติดถือเอาความเชื่อนี้มาเป็นสาระสำคัญจนเกินไป แต่ควรมองให้ลึกลงไปถึงความจริงแท้ในตัววัตถุ ตัวพิธีกรรม
ทั้งนี้ ผู้เขียนยังหวังว่าผลงานจะสามารถสะท้อน กระตุ้นเตือนในเรื่องของความงาม ความจริงแท้ต่อวัตถุต่างๆได้ นอกเหนือไปจากวัตถุที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งจะเป็นสิ่งดีที่ทำให้บุคคลมีความเข้าใจในเรื่องมายาคติที่ครอบงำการสื่อความหมายของสิ่งต่างๆได้อย่างลึกซึ้ง หลากหลาย สามารถนำความรู้และทัศนะ มุมมองในการมองวัตถุที่ได้จากผลงานไปประยุกต์ใช้ในการมองวัตถุ เหตุการณ์ต่างๆได้อย่างลึกซึ้ง เข้าใจในเนื้อแท้ของสารที่สื่อออกมา ไม่ว่าวัตถุนั้นๆจะถูกปรับเปลี่ยนที่อยู่หรือบทบาท หน้าที่ไปอย่างไรก็ตาม

2 ความคิดเห็น:

  1. ทดลองการลงบทความเบื้องต้น

    ตอบลบ
  2. ยินดีค่ะ เป็นเกียรติเช่นกันนะคะที่รับฟังและเห็นคุณค่าในความคิดของดิฉัน พุทธศาสนา ซึ่งได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญาหวังผลเพื่อการหลุดพ้นความทุกข์ในจิตใจ

    จุดประสงค์หรือต้นกำเนิดจะมาจากที่ใดก็ตามแต่ สิ่งที่เราควรมองและศึกษาคือเนื้อหาของศิลปะจากคำสอนเพื่อเข้าใจธรรมชาติของชีวิตธรรมชาติของจิตใจ ส่วนพิธีกรรมนั้น ดิฉันถือว่ามาที่หลัง ถ้าเราเชื่อในพิธีกรรมเราจะไม่สามารถเข้าถึงธรรมได้เลย
    ซึ่งในพระไตรปิฎกของพระพุทธเจ้าเราก็จะเห็นได้ว่า ภาคสุดท้ายที่บัญญัติไว้คือ ภาคที่พูดถึงในด้านจิตวิทยา มายาคติ กล่าวถึงในเรื่องความลึกลับ ของลักษณะจิตใจที่กว้างขวาง ซึ่งเต็มไปด้วยความงงงัน เพื่อค้นหาคำตอบที่สูงขึ้นไปในเชิงของปรัชญาเพื่อบรรลุสัจธรรมที่แท้จริงลึกซึ้งเร้นลับเหนือไปกว่าที่คนธรรมดาสามัญจะเห็นได้
    การใช้เวลาทั้งหมดของชีวิตเราไปศึกษาทุกอย่างในพระธรรมจนถึงขั้นสุดท้ายเป็นเรื่องยากแต่ที่ยากกว่าคือการจะนำเสนอให้ใครอื่นเชื่อในสิ่งที่เราคิดสิ่งที่เราเห็นให้เห็นเป็นวิทยาศาสตร์ มีเพียงสิ่งเดียวที่เราจะแสดงได้อย่างแยบคายสุขุมที่สุดนั่นก็คือ"ในเชิงของศิลปะ" เราทุกคนควรมองดูธรรมะในพระพุทธศาสนาให้เป็นศิลปะ

    เพื่อการกระทำและการมีชีวิตที่น่าดูน่าชมลึกซึ่งจับอกจับใจของผู้เฝ้าดูและน่าเลื่อมใสของผู้ประกอบการกระทำ

    เป็นกำลังใจให้นำเสนอสิ่งดีๆต่อๆไปนะคะ..วัคซีน..

    ตอบลบ