มายาคติกับความเชื่อทางวัตถุในพุทธศาสนา

มายาคติกับความเชื่อทางวัตถุในพุทธศาสนา
วัตถุต่างๆที่มีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับศาสนา ย่อมมีมายาคติเกิดขึ้นควบคู่กันไปเสมอ เพราะมายาคติ คือ “การสื่อความหมายด้วยคติความเชื่อทางวัฒนธรรมแต่ถูกกลบเกลื่อนให้เป็นที่รับรู้เสมือนว่าเป็นธรรมชาติ" รวมถึงการทำงานของมายาคติ คือ “การเข้าไปครอบงำความหมายเชิงผัสสะและประโยชน์ใช้สอยของสรรพสิ่ง แล้วทำให้มันสื่อความหมายใหม่ในอีกระดับหนึ่งซึ่งเป็นความหมายเชิงค่านิยมและอุดมการณ์”

วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2553

มายาคติ "ขัด" สมาธิ (ภาค 2)


ส่วนสำคัญหนึ่งของตัวงาน ทุกชิ้นงานของผู้เขียนนั้นจะมีชื่อผลงานเป็นเสมือนกุญแจในขั้นต้น มายาคติ "ขัด"สมาธิ "ขัด" ในที่นี้จึงหมายถึง 1.ขัดเกลา 2.ขัดขวาง ด้วยเหตุเพราะ ผู้เขียนมองว่าทุกสิ่งอย่างในโลกนั้นมีสองด้านเสมอ มายาคติก็เช่นเดียวกันมีทั้งที่ดีและไม่ดีและตัวมายาคติเองก็มีหลายระดับสูง กลาง ต่ำ เป็นเปลือก-เป็นแก่น

ผู้เขียนเจตนาเขียนพระพุทธรูปหันหลังให้ดูเป็นวัตถุ ไม่บ่งบอกยุคสมัยที่สร้าง ไม่บ่งบอกประเภทของวัตถุที่หล่อขึ้นมา(ทอง) จึงไร้สีมีเพียงแต่น้ำหนักแสงเงาและความมันวาวของพื้นผิวที่ไม่สามารถบ่งบอกได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นเนื้อวัตถุอะไร ทั้งนี้เพื่อให้ดูเป็นกลางมากที่สุด เป็นการลดกำลังของมายาคติลง ลดความสนใจในองค์พระพุทธรูป(มายาคติในขั้นเปลือก-วัตถุ)เพื่อไม่ให้ขัดขวางสมาธิ คนดู

ทั้งนี้จุดประสงค์ก็คือ เพื่อให้คนดูจะได้ พินิจ พิจารณาถึงในสิ่งที่สำคัญกว่า สิ่งที่ปรากฏตามมาเบื้องหลังภาพพระพุทธรูป คือ ความหมายแห่งลักษณะมหาบุรุษ32ประการ สะท้อนหลักคำสอนไว้ทุกสัดส่วนในองค์พระปฏิมา อาทิ จมูกเป็นสันนูนเพื่อให้เราระลึกถึงลมหายใจ เข้า-ออก เป็นการเตือนสติ ให้รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ หูยาวเพื่อเตือนให้เรามีความหนักแน่นอย่าเชื่อใครง่ายๆ ควรคิดพิจารณา ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อน เป็นต้น ที่กล่าวมาก็เป็นมายาคติในอีกระดับหนึ่ง เป็นขั้นสูง เป็นขั้นของการพัฒนาขัดเกลา ที่จะทำให้เราไม่หลงไปยึดติดแต่เพียงผิวนอก แต่ควรมองให้ลึกลงไปในวัตถุ ในพิธีกรรม มองให้เห็นสัจธรรมในสิ่งเหล่านี้

มายาคติในส่วนขั้นขัดเกลา นี้เองจึงอุปมาอุปมัย ดั่ง แผ่นทองที่ปิดหลังองค์พระปฏิมา เป็นสิ่งดีที่คนไม่เห็น ไม่นิยมหรือเห็นแต่ก็มองข้าม ไม่สนใจที่จะปฏิบัติ

markhun22.blogspot.cm
...............................

24 hrs art criticism

by

vaczeen

อะไร-ยังไง-ทำไม?กับคำถามที่เราต้องการคำตอบ

บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าตั้งคำถามกันตนเองว่า “ สิ่งที่เราเห็นหรือสิ่งที่รู้ไม่ว่าจากประสบการณ์ก็ดีหรือจากรับมาของข้อมูลความรู้ต่างๆก็ดี ทุกสิ่งนั้นมีความจริงแท้เพียงใดอะไรหรือสิ่งใดเป็นสิ่งตัดสิน ” คำพูดที่ผู้เขียนยกขึ้นมานี้เป็นเพียงคำถามหรือข้อสงสัยโง่ๆที่ผู้เขียนได้คิดกับตนเองภายในเท่านั้น การหาคำตอบนี้ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในโลกแห่งผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ หรือบรรดาปราชญ์ต่างๆนั้นเอง
แต่ผู้เขียนเองก็มิได้มีความรอบรู้มากมายเพียงพอเพี่อที่จะหาคำตอบจากคำถามนั้นอย่างถ่องแท้ ทำได้แต่เพียงตั้งคำถามและ “สงสัย” กับบรรดาความรู้หรือวาทกรรมต่างๆที่เรายืดถือว่ามันจริงและถูกต้อง

การ“สงสัย”ดั่งกล่าวนี้นำพาไปสู่ดินแดนใหม่แห่งความรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด อิสระปราศจากข้อผูกมัดใดๆของอำนาจแห่งความรู้ เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปสามารถทำได้ แต่การที่จะกระทำได้นั้นต้องปราศจาก “ความเชื่อ” ในสิ่งนั้น ดังเช่นในโลกยุคก่อนก็มีความเชื่อที่ว่าโลกกลม หรือความเชื่อที่ว่าชายฝั่งด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกาใต้และชายฝั่งด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกานั้นไม่เคยเชื่อมติดกัน ความเชื่อต่างๆนี้ได้ถูกพังทลายลงไปสู่ความจริงที่ล้วนแต่ด้วยความสงสัยในสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทั้งสิ้น การที่ใครสักคนกล้าที่จะสงสัยในสิ่งต่างเหล่านี้นั้นต้องปราศจากการเชื่อและการยึดมั่นของวาทกรรมที่เป็นอยู่ในช่วงเวลาปัจจุบัน ฉนั้นและการสงสัยนี้เองก็นำพาเราไปสู่ความรู้ที่ก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้ได้มาซึ่งวาทกรรมใหม่ที่ไม่รู้จบ

ดังที่ได้กล่าวมาการตั้งข้อสงสัยต่อสิ่งใดหรือชุดความรู้ใดๆต้องปราศจากความเชื่อและยึดติดกับสิ่งๆนั้น แต่ถ้าเรายังคงยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่นั้นเราก็ยังคงวนเวียนกับชุดของวาทกรรมนั้นๆสืบต่อกันมา ฉะนั้นแล้วความเชื่อนี้เองนับเป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ที่จะนำพาไปสู่ความรู้ใหม่ๆ

ขอสงสัยต่างที่กล่าวมานี้นำพาไปสู่การสงสัยหรือการตั้งคำถามต่อสิ่งที่มีความเชื่อและแรงศรัทธาของฝูงชนเป็นหัวใจหลัก และยากที่จะหาข้อโต้แย้งทางทฤษฎีที่เป็นในทางจิตมายืนยัน สิ่งดังกล่าวนี้คือ ศาสนา (ในที่นี้ผู้เขียนจะยกพุทธศาสนามาเป็นกรณีศึกษาเพราะเป็นศาสนาที่ผู้เขียนเชื่อและศรัทธาอยู่) พุทธศาสนาถือกำเนิดมาเนินนานหลายพันปี ชุดข้อมูลความรู้ต่างก็ยังคงสืบต่อกันมาโดยไร้ข้องสงสัยหรือการตั้งคำถาม สิ่งที่เป็นอยู่ของพุทธศาสนาในขณะปัจจุบันนี้อาจเป็นสิ่งที่เป็นความเชื่อหรือคติที่สืบต่อกันมา คำว่าคิตนี้ ในแวดวงของปัญญาชนปัจจุบันมีคำศัพท์ที่นิยมใช้กันเพื่อที่จะกล่าวถึงแบบอย่างที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อที่จะทำให้มันเป็นจริงและเป็นไปอย่างธรรมชาติ คือคำว่า “มายาคติ(myth)” คำว่ามายาคตินี้ปรากฏในหนังสือ mythologies โดย Roland Barthes Roland Barthes ได้ให้นิยามกับคำส่ามายาคติไว้ว่า“มายาคติ(myth) หมายถึงการสื่อความทางคติความเชื่อทางวัฒนธรรม ซึ่งถูกกลบเกลื่อนให้เป็นที่รับรู้เสมือนว่า เป็นธรรมชาติหรืออาจกล่าวให้ถึงที่สุดได้ว่าเป็นกระบวนการของการทำให้หลงอย่างหนึ่ง แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่ามายาคติเป็นการโกหกหลอกลวงแบบปั้นน้ำเป็นตัวหรือการโฆษณาชานเชื่อที่บิดเบือนข้อเท็จจริง มายาคติมิได้ปิดอำพรางสิ่งใดทั้งสิ้น ทุกอย่างปรากฏต่อหน้าเราอย่างเปิดเผย แต่เราต่างหากที่คุ้นชินกับมันจนไม่ทันสังเกตว่ามันเป็นสิ่งประกอบสร้างขึ้นทางวัฒนธรรม...”

สิ่งที่ผู้เขียนได้กล่าวมาว่าด้วยเรื่องการสงสัยและความเชื่อต่างๆทั้งหมดนี้ล้วนถูกเชื่อมโยงกับผลงานศิลปะที่มีสาระสำคัญหลักว่าด้วยเรื่องความเชื่อในทางพุทธศาสนาผลงานนี้เป็นผลงานของ ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท ในชุดผลงานชื่อ มายาคติกับความเชื่อทางวัตถุในพุทธศาสนา ผลงานของ ศุภวัฒน์ ชุดนี้ได้มีพัฒนาและสานต่อจากผลงานความคิดในชุดแรกเริ่มว่าด้วยเรื่องปรัชญาที่แท้จริงของพุทธศาสนา ศุภวัฒน์ ได้ค้นคว้าและแสดงออกของ หลักคำสอนในพุทธศาสนาที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาเป็นภาษาภาพหรือผลงานศิลปะ ผลงานศิลปะดั่งกล่าวนี้มีความแตกต่างจากผลงานที่มีเนื้อหาของพุทธศาสนาแบบไทยประเพณีที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาอย่างสิ้นเชิง แต่เขานำเนื้อหาของพุทธมาผสมผสานกับการแสดงออกของศิลปะในกาลปัจจุบันโดยผลงานมีกลิ่นอายของความเป็นร่วมสมัยอยู่ในตัวไม่ว่าจะเป็นเทคนิค กระบวนการคิดที่สอดคล้องกับเทคนิค หรือวิธีการนำเสนอ ศุภวัฒน์ ได้สร้างเฟรมผ้าใบด้านหน้าปรากฏรูปของพระพุทธรูปที่ไร้สิ่งสีสันใดๆมีเพียงน้ำหนักอ่อนแก่ที่ดูแล้วสงบนิ่งหันหลังให้แก่ผู้ชมผลงาน แต่เมื่อผู้ชมเข้าไปใกล้ผลงานจากภาพเขียนพระพุทธที่สงบนิ่งธรรมดานั้นก็ปรากฏแสงออกมาจากด้านหลังพร้อมกับตัวอักษรที่เป็นคำสอนของพุทธศาสนาเรียงรายเต็มผืนผ้าใบ จุดสนใจของผลงานชิ้นนี้คือการที่ผู้ชมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าถึงสาระสำคัญของชิ้นงาน เสมือนว่าผู้ชมก็สามารถเข้าถึงแก่นสาระของพุทธศาสนาได้ด้วยการกระทำของตน ดังเช่น คำกล่าวที่ว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ต้องกระทำมิใช้ศาสนาของการขอวิงวรเพื่อที่จะให้ได้มา (ว.วชิรเมธี)”

สิ่งที่ ศุภวัฒน์ ต้องการที่จะสื่อนั้นกล่าวคือสิ่งที่ปรากฏตรงหน้านั้นอาจมิใช่สิ่งที่จริงแท้หรือเป็นสาระเสมอไปอาจเป็นเพียงแค่เปลือกของสาระที่ซ้อนอยู่ภายใน เป็นสิ่งที่น่าสังเกตได้ว่า ศุภวัฒน์ ก็ยังคงมองคำว่ามายาคติเป็นสิ่งที่ฉาบหน้าพุทธศาสนาในที่นี้คือพิธีกรรมหรือวัตถุทางพุทธศาสนาเท่านั้น แต่สิ่งที่ยังเป็นหัวใจหลักของพุทธศาสนาหรือคำสอนต่างๆก็มิได้ไปแตะต้องเลยโดยยังคงมีความเชื่อว่าวาทกรรมนี้เป็นสิ่งที่จริงแท้และสมบรูณ์ที่สุด กระบวนการคิดนี้แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่จริงของวาทกรรมหลักเป็นศูนย์กลาง ทรงพลังและยิ่งใหญ่และยากที่จะตั้งคำถามหรือมีข้อสงสัย วาทกรรมที่เป็นศูนย์กลางทางความคิดนี้แสดงถึงการดำรงอยู่ของผู้ประพันธ์ (the author) ซึ่งได้แยกตัวจากระบบภาษาและผู้รับสาร แต่สิ่งที่เป็นสาระของพุทธศาสนานั้นคือสิ่งที่เป็นสาระสำคัญในชุดข้อมูลความรู้ที่มีการถ่ายทอดในระบบภาษาหรือเรียกว่า พระไตรปิฏก ที่ได้มาจากการกระทำปฏิบัติจริงของผู้ประพันธ์หรือพระพุทธเจ้า ความจริงสิ่งที่มีอยู่นี้คือภาษาที่เป็นวาทกรรมสืบทอดกันมาโดยคติหรือความเชื่อและความเชื่อในเรื่องของการมีอยู่จริงของผู้ประพันธ์ที่ถูกปรุงแต่งให้มีความจริงแท้มีบทสรุปที่แน่นอนมีแบบแผนชัดเจนเพื่อที่จะไปสู่ปลายทางคือนิพพาน

คำว่ามายาคตินี้จึงมีความน่าสนใจเมื่อถูกจับและเอาเข้ามาเชื่อมโยงกับพุทธศาสนา ที่ว่าการนำคำนี้มาเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงเรื่องความเป็นไปของพุทธศาสนาในตอนนี้ที่ถูกฉาบไปด้วยความเชื่อที่ลวงความจริงเอาไว้เสมือนการสร้างความชอบธรรมให้แก่พุทธศาสนาที่เป็นแก่นแกนสาระที่แท้จริงว่าความจริงที่สมบรูณ์สูงสุดมันมีอยู่จริงแต่ถูกมายาต่างๆบดบังอยู่ เมื่อการมีอยู่จริงของผู้ประพันธ์(the author) เกิดมาพร้อมกับความเชื่อนั้นก็ยากที่เราจะพยายามเข้าไปศึกษาถึงโครงสร้างความรู้ต่างๆถูกวางไว้อย่างเป็นระเบียบ แต่ในความเป็นจริงโครงสร้างทางความรู้ต่างมันต้องมีการผันแปร เคลื่อนไหวไปตามบริบทของเวลาและสถานการณ์ ฉนั้นแล้วการเข้าไปศึกษาหรือการนำคำว่ามายาคติเข้าไปศึกษากับพุทธศาสนานั้นผู้กระทำการดังกล่าวต้องมีความกล้าที่จะเข้าไปศึกษาถึงรากของพุทธศาสนา เพื่อที่จะได้บทสรุปว่ามายาคตินั้นเริ่มขึ้นจากจุดไหนอย่างแท้จริงรูปแบบการตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆนี้อาจเริ่มต้นด้วยความคิดที่ว่า “ต่อต้านรากฐาน(Antifoundational)”เพื่อที่จะเข้าไปศึกษาและหาจุดเริ่มต้นของปัญหา

จากคำกล่าวที่ปรากฏในหนังสือ Postmodernism and Philosophy โดย Stuart Sim ได้ให้คำอธิบายคำว่า Antifoundational ดังนี้“Antifoundationalism (การต่อต้านรากฐาน) ศัพท์เทคนิคเพื่ออธิบายสไตล์ของปรัชญานี้คือ antifoundational(การต่อต้านรากฐาน) บรรดานัก Antifoundationalists จะถกเถียงถึงความมีเหตุผลหรือความสมบูรณ์เกี่ยวกับรากฐานต่างๆของคำอธิบาย(discourse-วาทกรรม) โดยจะตั้งคำถามเช่น "อะไรที่มารับประกันความจริงรากฐานของคุณ (นั่นคือ จุดเริ่มต้น) ? ”ทั้งนี้การต่อต้านที่ผู้เขียนได้กล่าวมานี้มิใช้การปฏิเสธอย่างไม่ลืมหูลืมตาแบบที่ไม่ได้มองถึงสาระความรู้ของรากฐานที่เราเข้าไปศึกษา กระบวนการด้งกล่าวนี้เป็นกระบวนการของ “จุดเริ่มต้น”ที่จะเข้าไปทบทวน หรือตรวจสอบวาทกรรมต่างๆที่มีความมั่นคงและเป็นศูนย์กลางอย่างพุทธศาสนา

ดังเช่นที่ได้กล่าวมา เป็นการยากที่จะเข้าไปต้องข้อสงสัยกับความรู้ของพุทธศาสนาที่มีกำแพงของความเชื่อเข้ามากั้นกล่าวนี้ปรากฏให้เห็นในผลงานศิลปะของ ศุภวัฒน์ ที่ยังปรากฏกำแพงของความเชื่อในเรื่องความจริงหรือความสมบรูณ์ในเรื่องของความรู้รากฐานนั้นๆ โดยในผลงานก็ยังปรากฏให้เห็นถึงการหยุดยั่งการวิพากษ์อยู่ที่คำว่ามายาคติ ที่เข้าไปตรวจสอบแค่ผิวนอกปราศจากการลงลึกถึงแก่นแกน การแสองออกมาเป็นผลงานศิลปะของ ศุภวัฒน์ นั้นจึงดูประนีประนอมซึ่งไม่สอดคล้องกับเนื้อเรื่องที่หยิบยกขึ้นมานำเสนอคือคำว่ามายาคติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และท้าทายความคิดเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดี่ยวกัน ศุภวัฒน์ ก็มีความกล้าที่จะนำสิ่งที่ค่อนข้างไปด้วยกันไม่ได้มานำเสนอผ่านผลงานศิลปะ

ผลงานศิลปะของ ศุภวัฒน์ เป็นรูปแบบจิตกรรม2มิติที่มีการผสมผสานเทคนิคอย่างน่าสนใจ และสิ่งที่ยังเป็นจุดสนใจที่สุดคือการนำผู้ชมมาเป็นส่วนหนึ่งของความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน ผลงานของ ศุภวัฒน์ จึงไม่ตายในโลกของศิลปะหรือภายในห้องแสดงผลงาน ด้วยเทคนิคและ กุศโลบาย นี้ อาจนำพาไปสู่การเกิดการตั้งคำถามหรือข้อสงสัยของผู้ชมผลงานเองก็ได้ ผลงานศิลปะในยุคสมัยนี้ (ผู้เขียนขอใช้คำเรียกยุคสมัยนี้ว่า“ยุคหลังความเป็นไปได้ใหม่ทางศิลปะ”....) ไม่จำเป็นต้องเป็นระเบียบแบบแผน มีความสมบรูณ์แน่นอนสะอาดหมดจดในตัว หรือเป็นเพียงแค่สำแดงกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งทางศิลปะโดยมีการเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้คิดไตร่ตรองและเข้าไปตัดสินกับผลงานนั้นๆอย่างมีเสรีภาพของการชมผลงานศิลปะ

ท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนขออณุญาติตั้งข้อสงสัยหรือคำถามต่อผลงานของศุภวัฒน์ชิ้นนี้ว่า “พระพุทธรูปที่ข้าพเจ้าเห็นนั้นหันหลังให้อะไรแล้วกำลังมองอะไรอยู่ ?”
19 03 10 : TH
.........................

ขอขอบคุณ : 24hrsartcriticism.blogspot.com ที่มาของบทความ

วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553

มายาคติ หมายเลข 6 ( หน้ากาก )


Exhibition Review: Text and photo: อุษาวดี ศรีทอง


กมลพันธุ์ โชติวิชัย, The Dress No. 2, Hand cut paper, 130 x 90 ซม.
“ศิลปะ ศิลปิน ศิลปากร” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดมหกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิต นักศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 69 สถาบัน ได้มีเวทีในการแลกเปลี่ยน อนุรักษ์ และเสริมสร้างความรู้ทางด้านศิลปะวัฒนธรรมไทย โดยโครงการนี้ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 10 แล้ว
อาจารย์พรสรรค์ อัมรานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวถึงความหมายของชื่อโครงการไว้อย่างน่าสนใจว่า “ศิลปะ” คือสิ่งที่ก่อเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นวัฒนธรรม เช่น ศิลปกรรมไทยเป็นเครื่องแสดงถึงอัตลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมไทย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทัศนศิลป์ นาฏศิลป์ หรือดุริยางคศิลป์ต่างก็เป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศร่วมกัน
คำว่า “ศิลปิน” นั้นทางผู้จัดได้น้อมนำนิยามตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราโชวาชเกี่ยวกับความเป็นศิลปิน ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2507 ดังต่อไปนี้ “ความเป็นศิลปิน หมายถึง ความสามารถตามธรรมชาติที่จะเห็นความงามและคิดถึงความงาม เมื่อเกิดความคิดแล้ว ก็ต้องอาศัยวิชาความรู้หรือเทคนิค เช่น วิชาช่าง เป็นต้น จึงจะแสดงออกมาเป็นจิตรกรรม ปฏิมากรรม หรือศิลปกรรมในลักษณะอื่นๆ ได้”
และศิลป์ที่สามคือ “ศิลปากร” มหาวิทยาลัยที่ผสมผสานทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน
ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท, มายาคติ หมายเลข 5 (หน้ากาก), 2552, สื่อผสม, 150 x 150 ซม

จากที่มาของชื่องานที่เพิ่มความกระจ่างสร้างความเข้าใจให้กับผู้เขียนแล้ว ผู้เขียนจะพาทุกท่านเข้าสู่นิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ภายในศูนย์ศิลป์ฯ ผู้ชมจะได้พบกับผลงานศิลปะจากหลากหลายสถาบันที่ส่งเข้าประกวดในโครงการนี้ผลงานทั้งหมดต่างมีลักษณะที่สะท้อนความเป็นไทยตามข้อกำหนดของการประกวด ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภททัศนศิลป์ เป็นภาพผลงานที่มีชื่อว่า “มายาคติ หมายเลข 5 (หน้ากาก)” โดย ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท นักศึกษาปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาจิตรกรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานของเขาเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของมายาคติ ที่แอบแฝงอย่างแยบยลอยู่ในบริบทของสังคมไทย สิ่งที่ศุภวัฒน์เลือกใช้ คือการหยิบพระพุทธรูปซึ่งเป็นเครื่องหมายหรือสัญญะทางความเชื่อของชาวไทยพุทธ นำมาถ่ายทอดสู่รูปแบบของผลงาน ที่โดยส่วนตัวของผู้เขียนแล้วถือว่ามีความน่าสนใจอยู่มาก เมื่อได้สัมผัสผลงานของศุภวัฒน์ในครั้งแรกนั้น ผู้ชมจะได้พบแค่เพียงผืนผ้าใบสีขาวสะอาดที่มีแค่สีเหลืองทองของอะไรบางอย่างเจือปนอยู่บนผืนเฟรม การตั้งข้อสงสัยในรูปทรงของสีเหลืองทอง ดูจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ศิลปินจงใจสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ชมได้คิดต่อจากสิ่งที่ตาเห็น และเมื่อใดที่เราได้หยุดพิจารณาในสิ่งนั้นอย่างตั้งใจ เพียงพริบตาภาพที่เห็นข้างหน้ากลับเปลี่ยนไป บริเวณผืนเฟรมสีขาวที่เคยว่างเปล่าได้ปรากฏพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่ศิลปินใช้เทคนิควาดเส้นลงบนหลังเฟรม การเกิดขึ้นของภาพด้วยระบบการทำงานของเซ็นเซอร์และหลอดไฟที่ถูกติดตั้งเข้าไปในผลงานเพื่อสะท้อนภาพที่เคยถูกปกปิดนั้น เป็นสื่อในการนำเสนอแนวความคิดในเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธาที่สังคมมีต่อพุทธศาสนา ภาพสีเหลืองทองที่เราเคยตั้งข้อสงสัยในแรกเห็น ได้ถูกตอบคำถามโดยทองคำเปลวที่ติดอยู่กับพระพุทธรูป ซึ่งดูแล้วเสมือนมีใครจงใจนำหน้ากากสีทองมาใส่ในรูปทรงของพระพักตร์แห่งองค์พระปฏิมา สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ศิลปินใช้คำว่า “มายาคติ”
หากผู้อ่านท่านใดยังคงสงสัยและสนใจในความหมายของคำคำนี้ ผู้เขียนขอแนะนำหนังสือที่มีชื่อว่า “มายาคติ” ซึ่งเป็นหนังสือแปลที่รวบรวมบทความของ โรล็องด์ บาร์ตส์ นักสัญศาสตร์วรรณกรรมชาวฝรั่งเศส แปลโดยคุณวรรณพิมล อังคศิริสรรพ ที่ได้กล่าวถึงความหมายของ “มายาคติ”ว่า“หมายถึง การสื่อความหมายด้วยคติความเชื่อทางวัฒนธรรมแต่ถูกกลบเกลื่อนให้เป็นที่รับรู้เสมือนว่าเป็นธรรมชาติ มายาคตินั้นทำงานด้วยการเข้าไปครอบงำความหมายเชิงผัสสะและประโยชน์ใช้สอยของสรรพสิ่ง แล้วทำให้มันสื่อความหมายใหม่ในอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นความหมายเชิงค่านิยมและอุดมการณ์” จากข้อความข้างต้นจึงเป็นเสมือนต้นความคิดที่ศุภวัฒน์นำมาใช้บอกเล่าเรื่องราวผ่านผลงานศิลปะของตน ซึ่งแนวความคิดและรูปแบบของผลงานอาจมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาตามวุฒิภาวะและประสบการณ์การรับรู้ของศิลปิน เพราะในการทำงานศิลปะคงไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่วันนี้ ตอนนี้ หรือพรุ่งนี้เท่านั้น แต่คงต้องใช้ระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ นี่คือสิ่งที่ศุภวัฒน์ทิ้งท้ายไว้กับผู้เขียน

สุนทรี เฉลียวพงษ์, Spiritual Signs, จิตรกรรมผสม, 140 x 150 ซม.

ผลงานของสุนทรี เฉลียวพงษ์ นักศึกษาปริญญาโทชั้นปีที่ 2 จากสถาบันเดียวกัน เป็นอีกหนึ่งผลงานที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ด้วยวิธีการนำผ้าซึ่งเป็นวัสดุที่เธอคุ้นเคยเข้ามาใช้ การนำวัสดุ ผูกโยงกับประสบการณ์ และช่วงอารมณ์ต่างๆ ได้แสดงออกมาสู่ผลงานสื่อผสม สีขาวดำและร่องรอยการต่อผ้า แสดงความหมายถึงความสงบ ลึกลับ หรืออะไรบางอย่างที่ชวนค้นหาสิ่งเหล่านั้นคงไม่จำเป็นต้องตอบออกมาเป็นคำพูด แค่คุณรู้สึกและรับรู้ในสุนทรียะของสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแค่นั้นก็คงจะเพียงพอ


เฉลิมพล รับขวัญ, การกิน, สีฝุ่น, 100 x 80 ซม.

ธนิษฐา นันทาพจน์, ความรู้สึกหมายเลข 2 (1), Digital print,Screen,Emboss ชุน 40x50 ซม.

ผลงานของกมลพันธุ์ โชติวิชัย, เฉลิมพล รับขวัญ, พูนชัย บุญเพ็ง,สำราญ ทองพริก, วราวัจน์ พิมพิสัย, ธนิษฐา นันทาพจน์, พิชาธร นวลได้ศรีฯลฯ แม้ทั้งหมดจะยังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีและผลงานยังเป็นช่วงศึกษาทดลอง แต่ฝีไม้ลายมือที่ฝากไว้ถือได้ว่าเป็นที่น่าจับตาไม่แพ้รุ่นพี่ หรือศิลปินหลายๆ ท่านเลย หากพวกเขายังคงมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะดำเนินชีวิต รับใช้จิตวิญญาณด้วยศิลปะอย่างมั่นคงแล้ว เส้นทางข้างหน้าคงไม่ไกลเกินฝัน
แม้นิทรรศการ “ศิลปะ ศิลปิน ศิลปากร” เสร็จสิ้นไปแล้ว ตั้งแต่วันที่22 ธันวาคม 2552 ที่ผ่ามา แต่ภาพแห่งความประทับใจในวิถีไทยและการอนุรักษ์ไทยให้คงอยู่ในจิตสำนึกของลูกหลานไทยต่อไปยังคงอยู่ งานดีๆอย่างนี้ ปีหน้าฟ้าใหม่จัดขึ้นที่ไหนผู้เขียนคงไม่พลาดข่าวมาฝากท่านผู้อ่านอย่างแน่นอน
***หมายเหตุ*** TITLE ของผลงานชิ้นนี้ คือ มายาคติ หมายเลข 6 (หน้ากาก) ผู้เขียนได้ให้สัมภาษณ์กับทางนิตยสารผิดพลาดเอง ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
ขอขอบคุณ : ที่มาของบทความ Fine Art magazine
Exhibition Review Text and photo: อุษาวดี ศรีทอง
The art news magazine of Thailand

วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2553

มายาคติ หมายเลข 5 (รบ ลบ)



รบ : การสู้รบ ทำสงครามภายในจิตใจของตัวผู้เขียน รบทางความรู้สึก รบกับความเพียรพยายามในขณะที่กำลังสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมชิ้นนี้ขึ้นมาอย่างเต็มกำลัง โดยที่ตนเองรู้อยู่ทุกขณะจิตว่าสุดท้ายแล้วเราต้องลบผลงานจิตรกรรมชิ้นนี้ทั้งหมด


ลบ : การลบที่เป็นกิริยา อาการ เป็นลักษณะทางกายภาพลบส่วนของจิตรกรรมที่ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา การลบทางกายภาพนี้ มิได้หมายถึงการลบหรือทำลายพระพุทธรูปแต่ผู้เขียนต้องการสะท้อนไปถึงมายาคติ(อุดมคติ-ความเชื่อ)ต่างๆ ที่ติดมากับพระพุทธรูป การลบในที่นี้จึงเป็นการอุปมาอุปมัยเสมือนหนึ่งการลบมายาคติ

ความสัมพันธ์ระหว่างทองคำเปลวกับองค์พระพุทธรูป


ความสัมพันธ์ระหว่างทองคำเปลวกับพื้นที่รองรับที่เป็นองค์พระพุทธรูป ในส่วนนี้จะเป็นการสะท้อนในเรื่องของมูลค่ากับคุณค่า กล่าวคือ ทองคำเปลวด้วยตัวมันเองเป็นวัตถุที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ มีมูลค่าภายในตัวมันเอง แต่ถ้าไปอยู่บนพื้นที่รองรับอื่น อาทิ องค์พระพุทธรูป ความเป็นวัตถุนี้จะถูกลดบทบาทของตัวมันเองลง เนื่องเพราะทองคำเปลวจะเปลี่ยนบทบาทของตนเองไปรับใช้สิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า ทองคำเปลวในบริบทหลังนี้มีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าเป็นเรื่องของมูลค่า



ผู้เขียนได้ให้ทัศนะ ความหมายของทองคำเปลวว่าเป็น วัตถุสื่อกลาง ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อม ตัวเทียบแย้ง (Oppose)ระหว่างโลกสองโลก (โลกียะ-โลกุตระ) ระหว่างพิธีกรรมกับธรรม ระหว่างมูลค่าในตัววัตถุกับคุณค่าของพื้นที่รองรับ ทั้งยังเป็นการศึกษาถึง คุณค่า หน้าที่ ความหมายของตัวทองคำเปลว จากทางความเชื่อเป็นระดับความเข้าใจ เป็นสุนทรียใหม่ ที่รับรู้ได้ถึงความหมาย ความงามอันจริงแท้ของตัววัตถุ ด้วยการเปลี่ยนที่อยู่ของตัวทองคำเปลวจากภายในบริเวณวัด หรือตามส่วนต่างๆขององค์พระปฏิมา มาอยู่ในหอศิลป์ อยู่บนงานศิลปะที่เป็น Contemporary Painting



**การเทียบแย้ง (Oppose) คือ “การนำเอาวัตถุหรือปรากฏการณ์หนึ่งไปเทียบแย้งกับวัตถุหรืออีกปรากฏการณ์หนึ่ง (บางครั้งก็เป็นสภาวะเดียวกัน) การเทียบแย้งนี้ทำหน้าที่เผยแสดงคุณลักษณะเด่นที่เป็นปัจจัยของการสื่อความหมายในสิ่งนั้นๆให้ปรากฏออกมา โดยถ้าไม่มีการเทียบแย้งคุณลักษณะนั้นๆก็อาจจะแฝงอยู่ในรูปของศักยภาพหรือไม่เป็นที่สังเกตเห็น” Roland Barthes**

วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2553

ความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์

ในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวผู้เขียน มีความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ที่จะให้ผลงานเป็นสื่อสะท้อนไปให้เห็นถึง สาระที่จริงแท้ในตัวศิลปะวัตถุและพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยมุ่งหวังเพื่อการจรรโลงจิตใจให้ผู้คนหวนคิดถึงความจริงแท้ที่อยู่ลึกลงไปในตัววัตถุ ตัวพิธีกรรม อันเป็นสัจธรรม มีความบริสุทธิ์ด้วยตัวมันเองโดยมีคติความเชื่อหรือมายาคติบางส่วนที่เป็นสิ่งชักนำ ปูพื้นฐานในการทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระที่ลึกซึ้งขึ้นต่อไป

การเปลี่ยนที่อยู่ของพระพุทธรูป จากภายในวัด จากบนแท่นพระประธาน จากภาพจิตรกรรมฝาผนังมาอยู่ในหอศิลป์บนงานศิลปะ บทบาท หน้าที่ ความสำคัญ ขององค์พระพุทธรูปจะถูกปรับเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน นัยยะของพระพุทธรูปในหอศิลป์ไม่ใช่เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ศรัทธา แต่จะเป็นนัยยะเชิงสุนทรีย ความงาม ความหมาย ของการหยิบจับแง่มุมในการนำเสนอที่ตอบโจทย์ทางความคิดของคนทำงานศิลปะเข้ามาแทนที่ แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ก็คือ คติความเชื่อที่แฝงมากับองค์พระพุทธรูป ซึ่งสิ่งนี้ก็คือ มายาคติ นั้นเอง


ทัศนะเบื้องต้นได้กล่าวมา ตั้งอยู่บนเจตนาที่ดี มายาคติกับรูป-วัตถุในพุทธศาสนา ณ ที่นี้ มิได้ต้องการปฏิเสธหรือต่อต้าน วัตถุหรือพิธีกรรมต่างๆ สิ่งเหล่านี้ต้องดำรงอยู่เพราะมีความสำคัญเปรียบเสมือนบันไดขั้นแรกที่จะก้าวไปสู่ขั้นที่สูงขึ้น การนำเสนอในนัยยะของผู้เขียนนี้ เป็นการสะท้อนมุมมองและความคิดหนึ่ง ที่เมื่อบุคคลได้ตระหนักรับรู้ถึงมายาคติที่แฝงอยู่ในวัตถุ ในพิธีกรรมนั้นๆแล้ว ก็ไม่ควรไปยึดติดถือเอาความเชื่อนี้มาเป็นสาระสำคัญจนเกินไป แต่ควรมองให้ลึกลงไปถึงความจริงแท้ในตัววัตถุ ตัวพิธีกรรม
ทั้งนี้ ผู้เขียนยังหวังว่าผลงานจะสามารถสะท้อน กระตุ้นเตือนในเรื่องของความงาม ความจริงแท้ต่อวัตถุต่างๆได้ นอกเหนือไปจากวัตถุที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งจะเป็นสิ่งดีที่ทำให้บุคคลมีความเข้าใจในเรื่องมายาคติที่ครอบงำการสื่อความหมายของสิ่งต่างๆได้อย่างลึกซึ้ง หลากหลาย สามารถนำความรู้และทัศนะ มุมมองในการมองวัตถุที่ได้จากผลงานไปประยุกต์ใช้ในการมองวัตถุ เหตุการณ์ต่างๆได้อย่างลึกซึ้ง เข้าใจในเนื้อแท้ของสารที่สื่อออกมา ไม่ว่าวัตถุนั้นๆจะถูกปรับเปลี่ยนที่อยู่หรือบทบาท หน้าที่ไปอย่างไรก็ตาม