มายาคติกับความเชื่อทางวัตถุในพุทธศาสนา

มายาคติกับความเชื่อทางวัตถุในพุทธศาสนา
วัตถุต่างๆที่มีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับศาสนา ย่อมมีมายาคติเกิดขึ้นควบคู่กันไปเสมอ เพราะมายาคติ คือ “การสื่อความหมายด้วยคติความเชื่อทางวัฒนธรรมแต่ถูกกลบเกลื่อนให้เป็นที่รับรู้เสมือนว่าเป็นธรรมชาติ" รวมถึงการทำงานของมายาคติ คือ “การเข้าไปครอบงำความหมายเชิงผัสสะและประโยชน์ใช้สอยของสรรพสิ่ง แล้วทำให้มันสื่อความหมายใหม่ในอีกระดับหนึ่งซึ่งเป็นความหมายเชิงค่านิยมและอุดมการณ์”

วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2553

มายาคติ "ขัด" สมาธิ (ภาค 2)


ส่วนสำคัญหนึ่งของตัวงาน ทุกชิ้นงานของผู้เขียนนั้นจะมีชื่อผลงานเป็นเสมือนกุญแจในขั้นต้น มายาคติ "ขัด"สมาธิ "ขัด" ในที่นี้จึงหมายถึง 1.ขัดเกลา 2.ขัดขวาง ด้วยเหตุเพราะ ผู้เขียนมองว่าทุกสิ่งอย่างในโลกนั้นมีสองด้านเสมอ มายาคติก็เช่นเดียวกันมีทั้งที่ดีและไม่ดีและตัวมายาคติเองก็มีหลายระดับสูง กลาง ต่ำ เป็นเปลือก-เป็นแก่น

ผู้เขียนเจตนาเขียนพระพุทธรูปหันหลังให้ดูเป็นวัตถุ ไม่บ่งบอกยุคสมัยที่สร้าง ไม่บ่งบอกประเภทของวัตถุที่หล่อขึ้นมา(ทอง) จึงไร้สีมีเพียงแต่น้ำหนักแสงเงาและความมันวาวของพื้นผิวที่ไม่สามารถบ่งบอกได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นเนื้อวัตถุอะไร ทั้งนี้เพื่อให้ดูเป็นกลางมากที่สุด เป็นการลดกำลังของมายาคติลง ลดความสนใจในองค์พระพุทธรูป(มายาคติในขั้นเปลือก-วัตถุ)เพื่อไม่ให้ขัดขวางสมาธิ คนดู

ทั้งนี้จุดประสงค์ก็คือ เพื่อให้คนดูจะได้ พินิจ พิจารณาถึงในสิ่งที่สำคัญกว่า สิ่งที่ปรากฏตามมาเบื้องหลังภาพพระพุทธรูป คือ ความหมายแห่งลักษณะมหาบุรุษ32ประการ สะท้อนหลักคำสอนไว้ทุกสัดส่วนในองค์พระปฏิมา อาทิ จมูกเป็นสันนูนเพื่อให้เราระลึกถึงลมหายใจ เข้า-ออก เป็นการเตือนสติ ให้รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ หูยาวเพื่อเตือนให้เรามีความหนักแน่นอย่าเชื่อใครง่ายๆ ควรคิดพิจารณา ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อน เป็นต้น ที่กล่าวมาก็เป็นมายาคติในอีกระดับหนึ่ง เป็นขั้นสูง เป็นขั้นของการพัฒนาขัดเกลา ที่จะทำให้เราไม่หลงไปยึดติดแต่เพียงผิวนอก แต่ควรมองให้ลึกลงไปในวัตถุ ในพิธีกรรม มองให้เห็นสัจธรรมในสิ่งเหล่านี้

มายาคติในส่วนขั้นขัดเกลา นี้เองจึงอุปมาอุปมัย ดั่ง แผ่นทองที่ปิดหลังองค์พระปฏิมา เป็นสิ่งดีที่คนไม่เห็น ไม่นิยมหรือเห็นแต่ก็มองข้าม ไม่สนใจที่จะปฏิบัติ

markhun22.blogspot.cm
...............................

24 hrs art criticism

by

vaczeen

อะไร-ยังไง-ทำไม?กับคำถามที่เราต้องการคำตอบ

บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าตั้งคำถามกันตนเองว่า “ สิ่งที่เราเห็นหรือสิ่งที่รู้ไม่ว่าจากประสบการณ์ก็ดีหรือจากรับมาของข้อมูลความรู้ต่างๆก็ดี ทุกสิ่งนั้นมีความจริงแท้เพียงใดอะไรหรือสิ่งใดเป็นสิ่งตัดสิน ” คำพูดที่ผู้เขียนยกขึ้นมานี้เป็นเพียงคำถามหรือข้อสงสัยโง่ๆที่ผู้เขียนได้คิดกับตนเองภายในเท่านั้น การหาคำตอบนี้ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในโลกแห่งผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ หรือบรรดาปราชญ์ต่างๆนั้นเอง
แต่ผู้เขียนเองก็มิได้มีความรอบรู้มากมายเพียงพอเพี่อที่จะหาคำตอบจากคำถามนั้นอย่างถ่องแท้ ทำได้แต่เพียงตั้งคำถามและ “สงสัย” กับบรรดาความรู้หรือวาทกรรมต่างๆที่เรายืดถือว่ามันจริงและถูกต้อง

การ“สงสัย”ดั่งกล่าวนี้นำพาไปสู่ดินแดนใหม่แห่งความรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด อิสระปราศจากข้อผูกมัดใดๆของอำนาจแห่งความรู้ เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปสามารถทำได้ แต่การที่จะกระทำได้นั้นต้องปราศจาก “ความเชื่อ” ในสิ่งนั้น ดังเช่นในโลกยุคก่อนก็มีความเชื่อที่ว่าโลกกลม หรือความเชื่อที่ว่าชายฝั่งด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกาใต้และชายฝั่งด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกานั้นไม่เคยเชื่อมติดกัน ความเชื่อต่างๆนี้ได้ถูกพังทลายลงไปสู่ความจริงที่ล้วนแต่ด้วยความสงสัยในสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทั้งสิ้น การที่ใครสักคนกล้าที่จะสงสัยในสิ่งต่างเหล่านี้นั้นต้องปราศจากการเชื่อและการยึดมั่นของวาทกรรมที่เป็นอยู่ในช่วงเวลาปัจจุบัน ฉนั้นและการสงสัยนี้เองก็นำพาเราไปสู่ความรู้ที่ก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้ได้มาซึ่งวาทกรรมใหม่ที่ไม่รู้จบ

ดังที่ได้กล่าวมาการตั้งข้อสงสัยต่อสิ่งใดหรือชุดความรู้ใดๆต้องปราศจากความเชื่อและยึดติดกับสิ่งๆนั้น แต่ถ้าเรายังคงยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่นั้นเราก็ยังคงวนเวียนกับชุดของวาทกรรมนั้นๆสืบต่อกันมา ฉะนั้นแล้วความเชื่อนี้เองนับเป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ที่จะนำพาไปสู่ความรู้ใหม่ๆ

ขอสงสัยต่างที่กล่าวมานี้นำพาไปสู่การสงสัยหรือการตั้งคำถามต่อสิ่งที่มีความเชื่อและแรงศรัทธาของฝูงชนเป็นหัวใจหลัก และยากที่จะหาข้อโต้แย้งทางทฤษฎีที่เป็นในทางจิตมายืนยัน สิ่งดังกล่าวนี้คือ ศาสนา (ในที่นี้ผู้เขียนจะยกพุทธศาสนามาเป็นกรณีศึกษาเพราะเป็นศาสนาที่ผู้เขียนเชื่อและศรัทธาอยู่) พุทธศาสนาถือกำเนิดมาเนินนานหลายพันปี ชุดข้อมูลความรู้ต่างก็ยังคงสืบต่อกันมาโดยไร้ข้องสงสัยหรือการตั้งคำถาม สิ่งที่เป็นอยู่ของพุทธศาสนาในขณะปัจจุบันนี้อาจเป็นสิ่งที่เป็นความเชื่อหรือคติที่สืบต่อกันมา คำว่าคิตนี้ ในแวดวงของปัญญาชนปัจจุบันมีคำศัพท์ที่นิยมใช้กันเพื่อที่จะกล่าวถึงแบบอย่างที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อที่จะทำให้มันเป็นจริงและเป็นไปอย่างธรรมชาติ คือคำว่า “มายาคติ(myth)” คำว่ามายาคตินี้ปรากฏในหนังสือ mythologies โดย Roland Barthes Roland Barthes ได้ให้นิยามกับคำส่ามายาคติไว้ว่า“มายาคติ(myth) หมายถึงการสื่อความทางคติความเชื่อทางวัฒนธรรม ซึ่งถูกกลบเกลื่อนให้เป็นที่รับรู้เสมือนว่า เป็นธรรมชาติหรืออาจกล่าวให้ถึงที่สุดได้ว่าเป็นกระบวนการของการทำให้หลงอย่างหนึ่ง แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่ามายาคติเป็นการโกหกหลอกลวงแบบปั้นน้ำเป็นตัวหรือการโฆษณาชานเชื่อที่บิดเบือนข้อเท็จจริง มายาคติมิได้ปิดอำพรางสิ่งใดทั้งสิ้น ทุกอย่างปรากฏต่อหน้าเราอย่างเปิดเผย แต่เราต่างหากที่คุ้นชินกับมันจนไม่ทันสังเกตว่ามันเป็นสิ่งประกอบสร้างขึ้นทางวัฒนธรรม...”

สิ่งที่ผู้เขียนได้กล่าวมาว่าด้วยเรื่องการสงสัยและความเชื่อต่างๆทั้งหมดนี้ล้วนถูกเชื่อมโยงกับผลงานศิลปะที่มีสาระสำคัญหลักว่าด้วยเรื่องความเชื่อในทางพุทธศาสนาผลงานนี้เป็นผลงานของ ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท ในชุดผลงานชื่อ มายาคติกับความเชื่อทางวัตถุในพุทธศาสนา ผลงานของ ศุภวัฒน์ ชุดนี้ได้มีพัฒนาและสานต่อจากผลงานความคิดในชุดแรกเริ่มว่าด้วยเรื่องปรัชญาที่แท้จริงของพุทธศาสนา ศุภวัฒน์ ได้ค้นคว้าและแสดงออกของ หลักคำสอนในพุทธศาสนาที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาเป็นภาษาภาพหรือผลงานศิลปะ ผลงานศิลปะดั่งกล่าวนี้มีความแตกต่างจากผลงานที่มีเนื้อหาของพุทธศาสนาแบบไทยประเพณีที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาอย่างสิ้นเชิง แต่เขานำเนื้อหาของพุทธมาผสมผสานกับการแสดงออกของศิลปะในกาลปัจจุบันโดยผลงานมีกลิ่นอายของความเป็นร่วมสมัยอยู่ในตัวไม่ว่าจะเป็นเทคนิค กระบวนการคิดที่สอดคล้องกับเทคนิค หรือวิธีการนำเสนอ ศุภวัฒน์ ได้สร้างเฟรมผ้าใบด้านหน้าปรากฏรูปของพระพุทธรูปที่ไร้สิ่งสีสันใดๆมีเพียงน้ำหนักอ่อนแก่ที่ดูแล้วสงบนิ่งหันหลังให้แก่ผู้ชมผลงาน แต่เมื่อผู้ชมเข้าไปใกล้ผลงานจากภาพเขียนพระพุทธที่สงบนิ่งธรรมดานั้นก็ปรากฏแสงออกมาจากด้านหลังพร้อมกับตัวอักษรที่เป็นคำสอนของพุทธศาสนาเรียงรายเต็มผืนผ้าใบ จุดสนใจของผลงานชิ้นนี้คือการที่ผู้ชมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าถึงสาระสำคัญของชิ้นงาน เสมือนว่าผู้ชมก็สามารถเข้าถึงแก่นสาระของพุทธศาสนาได้ด้วยการกระทำของตน ดังเช่น คำกล่าวที่ว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ต้องกระทำมิใช้ศาสนาของการขอวิงวรเพื่อที่จะให้ได้มา (ว.วชิรเมธี)”

สิ่งที่ ศุภวัฒน์ ต้องการที่จะสื่อนั้นกล่าวคือสิ่งที่ปรากฏตรงหน้านั้นอาจมิใช่สิ่งที่จริงแท้หรือเป็นสาระเสมอไปอาจเป็นเพียงแค่เปลือกของสาระที่ซ้อนอยู่ภายใน เป็นสิ่งที่น่าสังเกตได้ว่า ศุภวัฒน์ ก็ยังคงมองคำว่ามายาคติเป็นสิ่งที่ฉาบหน้าพุทธศาสนาในที่นี้คือพิธีกรรมหรือวัตถุทางพุทธศาสนาเท่านั้น แต่สิ่งที่ยังเป็นหัวใจหลักของพุทธศาสนาหรือคำสอนต่างๆก็มิได้ไปแตะต้องเลยโดยยังคงมีความเชื่อว่าวาทกรรมนี้เป็นสิ่งที่จริงแท้และสมบรูณ์ที่สุด กระบวนการคิดนี้แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่จริงของวาทกรรมหลักเป็นศูนย์กลาง ทรงพลังและยิ่งใหญ่และยากที่จะตั้งคำถามหรือมีข้อสงสัย วาทกรรมที่เป็นศูนย์กลางทางความคิดนี้แสดงถึงการดำรงอยู่ของผู้ประพันธ์ (the author) ซึ่งได้แยกตัวจากระบบภาษาและผู้รับสาร แต่สิ่งที่เป็นสาระของพุทธศาสนานั้นคือสิ่งที่เป็นสาระสำคัญในชุดข้อมูลความรู้ที่มีการถ่ายทอดในระบบภาษาหรือเรียกว่า พระไตรปิฏก ที่ได้มาจากการกระทำปฏิบัติจริงของผู้ประพันธ์หรือพระพุทธเจ้า ความจริงสิ่งที่มีอยู่นี้คือภาษาที่เป็นวาทกรรมสืบทอดกันมาโดยคติหรือความเชื่อและความเชื่อในเรื่องของการมีอยู่จริงของผู้ประพันธ์ที่ถูกปรุงแต่งให้มีความจริงแท้มีบทสรุปที่แน่นอนมีแบบแผนชัดเจนเพื่อที่จะไปสู่ปลายทางคือนิพพาน

คำว่ามายาคตินี้จึงมีความน่าสนใจเมื่อถูกจับและเอาเข้ามาเชื่อมโยงกับพุทธศาสนา ที่ว่าการนำคำนี้มาเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงเรื่องความเป็นไปของพุทธศาสนาในตอนนี้ที่ถูกฉาบไปด้วยความเชื่อที่ลวงความจริงเอาไว้เสมือนการสร้างความชอบธรรมให้แก่พุทธศาสนาที่เป็นแก่นแกนสาระที่แท้จริงว่าความจริงที่สมบรูณ์สูงสุดมันมีอยู่จริงแต่ถูกมายาต่างๆบดบังอยู่ เมื่อการมีอยู่จริงของผู้ประพันธ์(the author) เกิดมาพร้อมกับความเชื่อนั้นก็ยากที่เราจะพยายามเข้าไปศึกษาถึงโครงสร้างความรู้ต่างๆถูกวางไว้อย่างเป็นระเบียบ แต่ในความเป็นจริงโครงสร้างทางความรู้ต่างมันต้องมีการผันแปร เคลื่อนไหวไปตามบริบทของเวลาและสถานการณ์ ฉนั้นแล้วการเข้าไปศึกษาหรือการนำคำว่ามายาคติเข้าไปศึกษากับพุทธศาสนานั้นผู้กระทำการดังกล่าวต้องมีความกล้าที่จะเข้าไปศึกษาถึงรากของพุทธศาสนา เพื่อที่จะได้บทสรุปว่ามายาคตินั้นเริ่มขึ้นจากจุดไหนอย่างแท้จริงรูปแบบการตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆนี้อาจเริ่มต้นด้วยความคิดที่ว่า “ต่อต้านรากฐาน(Antifoundational)”เพื่อที่จะเข้าไปศึกษาและหาจุดเริ่มต้นของปัญหา

จากคำกล่าวที่ปรากฏในหนังสือ Postmodernism and Philosophy โดย Stuart Sim ได้ให้คำอธิบายคำว่า Antifoundational ดังนี้“Antifoundationalism (การต่อต้านรากฐาน) ศัพท์เทคนิคเพื่ออธิบายสไตล์ของปรัชญานี้คือ antifoundational(การต่อต้านรากฐาน) บรรดานัก Antifoundationalists จะถกเถียงถึงความมีเหตุผลหรือความสมบูรณ์เกี่ยวกับรากฐานต่างๆของคำอธิบาย(discourse-วาทกรรม) โดยจะตั้งคำถามเช่น "อะไรที่มารับประกันความจริงรากฐานของคุณ (นั่นคือ จุดเริ่มต้น) ? ”ทั้งนี้การต่อต้านที่ผู้เขียนได้กล่าวมานี้มิใช้การปฏิเสธอย่างไม่ลืมหูลืมตาแบบที่ไม่ได้มองถึงสาระความรู้ของรากฐานที่เราเข้าไปศึกษา กระบวนการด้งกล่าวนี้เป็นกระบวนการของ “จุดเริ่มต้น”ที่จะเข้าไปทบทวน หรือตรวจสอบวาทกรรมต่างๆที่มีความมั่นคงและเป็นศูนย์กลางอย่างพุทธศาสนา

ดังเช่นที่ได้กล่าวมา เป็นการยากที่จะเข้าไปต้องข้อสงสัยกับความรู้ของพุทธศาสนาที่มีกำแพงของความเชื่อเข้ามากั้นกล่าวนี้ปรากฏให้เห็นในผลงานศิลปะของ ศุภวัฒน์ ที่ยังปรากฏกำแพงของความเชื่อในเรื่องความจริงหรือความสมบรูณ์ในเรื่องของความรู้รากฐานนั้นๆ โดยในผลงานก็ยังปรากฏให้เห็นถึงการหยุดยั่งการวิพากษ์อยู่ที่คำว่ามายาคติ ที่เข้าไปตรวจสอบแค่ผิวนอกปราศจากการลงลึกถึงแก่นแกน การแสองออกมาเป็นผลงานศิลปะของ ศุภวัฒน์ นั้นจึงดูประนีประนอมซึ่งไม่สอดคล้องกับเนื้อเรื่องที่หยิบยกขึ้นมานำเสนอคือคำว่ามายาคติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และท้าทายความคิดเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดี่ยวกัน ศุภวัฒน์ ก็มีความกล้าที่จะนำสิ่งที่ค่อนข้างไปด้วยกันไม่ได้มานำเสนอผ่านผลงานศิลปะ

ผลงานศิลปะของ ศุภวัฒน์ เป็นรูปแบบจิตกรรม2มิติที่มีการผสมผสานเทคนิคอย่างน่าสนใจ และสิ่งที่ยังเป็นจุดสนใจที่สุดคือการนำผู้ชมมาเป็นส่วนหนึ่งของความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน ผลงานของ ศุภวัฒน์ จึงไม่ตายในโลกของศิลปะหรือภายในห้องแสดงผลงาน ด้วยเทคนิคและ กุศโลบาย นี้ อาจนำพาไปสู่การเกิดการตั้งคำถามหรือข้อสงสัยของผู้ชมผลงานเองก็ได้ ผลงานศิลปะในยุคสมัยนี้ (ผู้เขียนขอใช้คำเรียกยุคสมัยนี้ว่า“ยุคหลังความเป็นไปได้ใหม่ทางศิลปะ”....) ไม่จำเป็นต้องเป็นระเบียบแบบแผน มีความสมบรูณ์แน่นอนสะอาดหมดจดในตัว หรือเป็นเพียงแค่สำแดงกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งทางศิลปะโดยมีการเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้คิดไตร่ตรองและเข้าไปตัดสินกับผลงานนั้นๆอย่างมีเสรีภาพของการชมผลงานศิลปะ

ท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนขออณุญาติตั้งข้อสงสัยหรือคำถามต่อผลงานของศุภวัฒน์ชิ้นนี้ว่า “พระพุทธรูปที่ข้าพเจ้าเห็นนั้นหันหลังให้อะไรแล้วกำลังมองอะไรอยู่ ?”
19 03 10 : TH
.........................

ขอขอบคุณ : 24hrsartcriticism.blogspot.com ที่มาของบทความ

5 ความคิดเห็น:

  1. เขียนงานใหม่แล้วนะคะงานชิ้นนี้มันเป็นการต่อยอดความคิดจากงานมายาคติของคุณกับซีนค่ะ ไอเดียมันผุดขึ้นมาจากศิลปะและคำอธิบายที่คุณแสดงไว้ลองเข้าไปอ่านดูนะคะ "อิสระภาพบนหน้ากากสังคม"

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณนะคะสำหรับคำชี้แนะดีมากค่ะที่เป็นกระจกให้ บางทีบทความของดิฉันอาจจะใช้เสรีภาพทางความรู้สึกของตัวเองมากเกินไปมันก็เลยทำให้ไม่ชัดเจนและไม่เข้าใจในบางอย่าง ดิฉันอยากแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วในตัวของมนุษย์เองคือความว่างเปล่า แต่ด้วยการปฏิเสธที่ถูกต้องเราถึงมีคุณค่าขึ้น สิ่งที่ใช้ยืนยันคุณค่าของมนุษย์ก็คือเสรีภาพในการเลือกของตัวเราเอง หากเรายินยอมให้ผู้อื่นหรือให้สังคมใช้เสรีภาพในการเลือกของเราวินาทีนั้นเราได้เสียคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ที่เรามีมาไปแล้ว ซึ่งดิฉันต้องการให้มันสะท้อนถึงสภาพของสังคมไทย ณ.ขณะนี้ ที่เราออกมาเรียกร้องแต่ภายใต้การเรียกร้องนั้นมันไม่ใช่เป็นการเลือกโดยตรงของเราเลย มันเป็นการเรียกร้องผ่านกฎ ผ่านขบวนการซึ่งมันอาจจะเป็นกรอบหรือเป็นความเชื่อที่อีกคนหนึ่งทำได้ในอดีต เราก็ทำเช่นเดิมอย่างนั้นเพราะเราคิดว่าเราจะได้อิสรภาพจากสิ่งที่เราไม่ต้องการแต่มันก็ไม่เกิดผลเพราะเมื่อเวลาผ่านไปความเชื่อก็เปลี่ยนกรอบก็เปลี่ยน
    สิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดกรอบหรือขอบเขตเสรีภาพของมนุษย์นั้นก็คือเหตุและผลคือความรับผิดชอบ อันเกิดจากมโนธรรมของมนุษย์เอง ไม่ว่าจะเป็นกฎของสังคมหรือกฏหมายเมื่อเวลาผ่านไปก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามวาระของสังคม จึงอยากสะท้อนว่าในขณะที่เราเรียกร้องอิสระภาพอย่างไม่มีสิ้นสุดนั้น ตอนที่คุณเริ่มเลือกตอนที่คุณมีสิทธิ์ใช้เสรีภาพในการเลือกนั้นคุณได้ใช้มันถูกหรือยัง คุณเลือกเองหรือมีใครมาเลือกให้คุณ
    ส่วนชื่อที่ตั้งว่าอิสรภาพบนหน้ากากของสังคมนั้นก็อยากแสดงให้เห็นว่า คนที่อยู่ในสังคม ล้วนต้องสวมหน้ากากเข้าหากันหรือสวมหมวกของกฎของภาระหน้าที่ เพื่ออยู่ เพื่อเอาชีวิตรอด ความหวังหรือความฝันบางครั้งมันก็คือหน้ากากใบหนึ่งที่มนุษย์ถูกชักจูงให้ต้องสวมใส่เอาไว้เพราะฉะนั้นในสังคมหรือกฏของสังคมไม่ใช่ที่ที่มนุษย์จะออกมาแสดงออกหรือเรียกร้องซึ่งเสรีภาพ แต่เสรีภาพต้องเริ่มต้นเลือกจากตัวเรา เมื่อคุณเลือกถูกตั้งแต่ทีแรกปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้นกับคุณ ดิฉันเคยเขียนเรื่องเสรีภาพนะคะไม่ทราบว่าได้อ่านหรือเปล่า ซึ่งในเสรีภาพดิฉันหมายถึงความรับผิดชอบ เหตุผลชอบ การปฏิเสธชอบ ชอบในที่นี้คือชอบด้วยตัวเองไม่ใช่ความชอบของผู้อื่น เพราะสิ่งที่เราชอบและเลือกให้ตัวเองแล้วย่อมดีต่อบุคคลอื่นด้วย มันจะไม่มีอะไรดีต่อตัวของผู้เลือกเลยถ้าไม่ดีต่อผู้อื่น โลกนี้มีสองด้านค่ะมนุษย์ก็มีสองภาค ภาคที่แท้จริงกับภาคที่เราต้องสะท้อนกลับไปให้สังคม คุณเลือกได้ค่ะว่าจะสะท้อนภาคไหนภาคที่เราเลือกเองคือเสรีภาพหรือภาคที่คนอื่นเลือกให้เราต้องสะท้อนออกไป ถ้ามีข้อสงสัยส่วนไหนก็ถามมาได้นะคะ ดีค่ะเราจะได้ดีเบตกันมันจะได้เกิดมุมมองที่แตกต่าง
    ขอบคุณนะคะสำหรับข้อชี้แนะชอบคำชีแนะคะไม่ชอบคำชมเพราะมันจะไปปิดกั้นอิสรภาพของการพัฒนา 555+อิสระภาพอีกแล้วหรอเนี่ยอิอิ ...วัคซีน....

    ตอบลบ
  3. ดิฉันจะตั้งคำถามดีกว่านะคะเอาเป็นว่า ถ้าคุณทำความดีแล้วแต่ในความรู้สึกร่วมของคนอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่ามันยังไม่ใช่ มีคนต่อต้านการกระทำของคุณ แต่ด้วยความที่คุณมั่นใจในความรู้สึกของตนเองกอรปกับต้องการแสดงให้คนหมู่มากยอมรับในความคิด จึงต้องรวมความคิดเข้ากับคนกลุ่มที่เค้าเห็นตรงกับคุณเพื่อยืนความถูกต้อง คนกลุ่มหนึ่งก็รวมพลังให้มากเช่นกันเพื่อมายืนยันความไม่ถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดนี้แน่นอนค่ะมันคือเสรีภาพที่ทุกคนสามารถกระทำได้ คำถามมีอยู่ว่าเวลาตรงนั้นระหว่างการยืนยันกันไปมา มีอะไรใหม่เกิดขึ้นระหว่างความคิดที่ตรงกันข้ามไหมคะ เมื่อเรารบเราต้องการแค่ชัยชนะ ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับฝ่ายตรงข้ามกับความคิดเราเค้าก็คิดเช่นกัน พอมาถึงตรงนี้ลองคิดดูซิคะว่าอะไรที่เราเสียไปทั้งสองฝ่าย “เราสูญเสียเสรีภาพค่ะ"เพราะเราโต้กันด้วยการทำลายล้างทางความคิดซึ่งเราทึกทักกันว่านั่นคือสิทธิเสรี ถ้าเราไม่เข้าร่วมขบวนการเราต้องถูกเหยียดหยามทางความคิดไม๊คะ แน่นอนค่ะไม่ ถ้าคุณไปทำบุญคุณต้องการให้คน100คนมายืนยันว่าคุณไปทำบุญมาเพื่อคุณจะได้บุญเต็มที่หรือเปล่าคะ ซึ่งก็คงไม่ใช่เช่นกัน แต่ถ้าหากคุณไปฆ่าคนตายทางที่คุณจะรอดความผิดได้ คือหาคนมายืนยันให้ได้มากที่สุดว่าคุณไม่ได้ทำเพื่อยืนยันความถูกต้องอย่างนั้นได้หรือเปล่าคะ..และถ้าหากการกระทำอย่างนั้นสังคมบอกว่าใช่ล่ะคะ สังคมบอกต้องยอมรับในความคิดของคนหมู่มาก แล้วภายใต้จิตสำสึกเราล่ะคะเรารู้สึกด้วยตัวเราเองไหมว่าเราได้ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่นแล้ว

    " นี่คือคำถามนะคะและก็เป็นสิทธิ์ที่คุณจะเสนอแนวคิดได้นอกเหนือออกไปมากกว่านี้นะคะ"

    การค้นหาอะไรก็แล้วแต่คุณต้องปลดแอกจากความคิดที่เคยมี เสรีภาพไม่ต้องการภาระ เสรีภาพไม่ได้เกิดขึ้นด้วยจำนวนคนที่มากกว่า เสรีภาพไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ เสรีภาพไม่เกิดขึ้นเพราะการปฏิวัติ ถ้าการปฏิวัติสร้างเสรีภาพได้จริงเมืองไทยไม่มีปัญหาแล้วค่ะเพราะเราปฏิวัติกันหลายรอบแล้ว การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่สุดนั้น..คือการเปลี่ยนแปลงจากภายในอันเกิดจากการเข้าถึงอิสรภาพในทางจิตวิญญาณ เสรีภาพบางครั้งก็เหมือนศิลปะนะคะ ไม่จำเป็นต้องอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางตรรกะ ไม่ต้องการความรู้สึกร่วมที่ตรงกันของคนหมู่มาก ไม่ต้องให้คนหมู่มากออกมาให้เหตุผลที่แท้จริงของความรู้สึก แต่..แค่ทุกคนได้ดูแล้วมีความรู้สึกร่วมที่รวมแล้วมันคือความสุขมันคือความปลอดโปร่ง มันคือจินตภาพที่ไร้เดียงสา คือความบริสุทธิ์ทางความคิดของแต่ละคน..เราต้องการแค่นั้นค่ะ แค่นั้นจริงๆคือเสรีภาพที่แท้จริง มันคือศิลปะของชีวิตค่ะเราไม่ต้องการอะไรที่มากไปกว่านั้น..ขอบคุณนะคะ ...วัคซีน...

    ตอบลบ
  4. ...การที่เราร่ำร้องเรียกหาความหมายของเสรีภาพ อิสระภาพนั้น เราไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าเสรีภาพที่เเท้จริงนั้นเป็นเช่นไรรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร หรือให้คุณประโยชน์อย่างไร โดยทุกวันนี้เรายังพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่.... "บางที่อิสระภาพที่ยิ่งใหญ่เพียงเเค่เราหลับตานอนลงมีเพียงความมืดจากเปลื่อกตาเท่านั้นอาจเป็นอิสระภาพที่เเท้จริงก็ได้"

    เมื่ออิสระภาพที่เราต้องการมันจะมาพร้อมๆกับขนบธรรมเนียม หรือจริยธรรมทางสังคม เเล้วเราต้องมาอธิบายเเละยืนยันว่าสิ่งที่เราคิดเเละสิ่งที่เราทำนั้นถูก อิสระภาพเเละเสรีภาพต่างๆมันก็ได้ถูกลดทอนไปพร้อมๆกับเหตุผลต่างๆนาๆมากมาย เเล้วสิ่งที่เราคิดหรือกระทำนั้นเป็นเสรีภาพหรือ , ในคำว่าเสรีภาพของผมนั้นมันเกิดขึ้นจากการตัดสินใจที่เกิดขึ้นของตนเอง มิใช่เกิดจากทางเลื่อกหรือกรอบใดๆที่ว่างไว้ ดังนั้นเราเองก็มีเสรีภาพที่จะทำ หรือจะไม่ทำก็ได้ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเป็นไปของการกระทำเเละความเป็นจริงในห่วงเวลาปัจจุบัน

    สิ่งที่ได้มาจากเสรีภาพต่างๆที่ได้ตัดสินใจหรือการกระทำดังกล่าวนั้นมันก็เป็นการสิ้นสุดของอิสระภาพเช่นกัน
    เราไม่มีทางที่จะมีเสรีภาพเเละอิสระภาพอย่างถาวร หรือเเท้จริงในโลกของสัตว์สังคม อาจมีเพียงการหลับตาอยู่กับตัวเองภายใต้ความมือของเปลือกตาเท่านั้นที่เป็นพื้นที่ของอิสระภาพที่เเท้จริง

    "ข้าพเจ้าไม่เคยกังวลว่าข้าพเจ้าจะมีเสรีภาพหรือไม่...เเต่สิ่งที่คิดเเละต้องการมากที่สุดคือพื้นที่ของอิสระภาพของตัวข้าพเจ้า"

    vaczeen

    ตอบลบ
  5. http://vaczeen-criticism.blogspot.com/ คลังบทความเก่าที่เคยเขียน

    ตอบลบ