มายาคติกับความเชื่อทางวัตถุในพุทธศาสนา

มายาคติกับความเชื่อทางวัตถุในพุทธศาสนา
วัตถุต่างๆที่มีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับศาสนา ย่อมมีมายาคติเกิดขึ้นควบคู่กันไปเสมอ เพราะมายาคติ คือ “การสื่อความหมายด้วยคติความเชื่อทางวัฒนธรรมแต่ถูกกลบเกลื่อนให้เป็นที่รับรู้เสมือนว่าเป็นธรรมชาติ" รวมถึงการทำงานของมายาคติ คือ “การเข้าไปครอบงำความหมายเชิงผัสสะและประโยชน์ใช้สอยของสรรพสิ่ง แล้วทำให้มันสื่อความหมายใหม่ในอีกระดับหนึ่งซึ่งเป็นความหมายเชิงค่านิยมและอุดมการณ์”

วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553

มายาคติ หมายเลข 6 ( หน้ากาก )


Exhibition Review: Text and photo: อุษาวดี ศรีทอง


กมลพันธุ์ โชติวิชัย, The Dress No. 2, Hand cut paper, 130 x 90 ซม.
“ศิลปะ ศิลปิน ศิลปากร” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดมหกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิต นักศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 69 สถาบัน ได้มีเวทีในการแลกเปลี่ยน อนุรักษ์ และเสริมสร้างความรู้ทางด้านศิลปะวัฒนธรรมไทย โดยโครงการนี้ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 10 แล้ว
อาจารย์พรสรรค์ อัมรานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวถึงความหมายของชื่อโครงการไว้อย่างน่าสนใจว่า “ศิลปะ” คือสิ่งที่ก่อเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นวัฒนธรรม เช่น ศิลปกรรมไทยเป็นเครื่องแสดงถึงอัตลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมไทย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทัศนศิลป์ นาฏศิลป์ หรือดุริยางคศิลป์ต่างก็เป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศร่วมกัน
คำว่า “ศิลปิน” นั้นทางผู้จัดได้น้อมนำนิยามตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราโชวาชเกี่ยวกับความเป็นศิลปิน ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2507 ดังต่อไปนี้ “ความเป็นศิลปิน หมายถึง ความสามารถตามธรรมชาติที่จะเห็นความงามและคิดถึงความงาม เมื่อเกิดความคิดแล้ว ก็ต้องอาศัยวิชาความรู้หรือเทคนิค เช่น วิชาช่าง เป็นต้น จึงจะแสดงออกมาเป็นจิตรกรรม ปฏิมากรรม หรือศิลปกรรมในลักษณะอื่นๆ ได้”
และศิลป์ที่สามคือ “ศิลปากร” มหาวิทยาลัยที่ผสมผสานทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน
ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท, มายาคติ หมายเลข 5 (หน้ากาก), 2552, สื่อผสม, 150 x 150 ซม

จากที่มาของชื่องานที่เพิ่มความกระจ่างสร้างความเข้าใจให้กับผู้เขียนแล้ว ผู้เขียนจะพาทุกท่านเข้าสู่นิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ภายในศูนย์ศิลป์ฯ ผู้ชมจะได้พบกับผลงานศิลปะจากหลากหลายสถาบันที่ส่งเข้าประกวดในโครงการนี้ผลงานทั้งหมดต่างมีลักษณะที่สะท้อนความเป็นไทยตามข้อกำหนดของการประกวด ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภททัศนศิลป์ เป็นภาพผลงานที่มีชื่อว่า “มายาคติ หมายเลข 5 (หน้ากาก)” โดย ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท นักศึกษาปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาจิตรกรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานของเขาเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของมายาคติ ที่แอบแฝงอย่างแยบยลอยู่ในบริบทของสังคมไทย สิ่งที่ศุภวัฒน์เลือกใช้ คือการหยิบพระพุทธรูปซึ่งเป็นเครื่องหมายหรือสัญญะทางความเชื่อของชาวไทยพุทธ นำมาถ่ายทอดสู่รูปแบบของผลงาน ที่โดยส่วนตัวของผู้เขียนแล้วถือว่ามีความน่าสนใจอยู่มาก เมื่อได้สัมผัสผลงานของศุภวัฒน์ในครั้งแรกนั้น ผู้ชมจะได้พบแค่เพียงผืนผ้าใบสีขาวสะอาดที่มีแค่สีเหลืองทองของอะไรบางอย่างเจือปนอยู่บนผืนเฟรม การตั้งข้อสงสัยในรูปทรงของสีเหลืองทอง ดูจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ศิลปินจงใจสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ชมได้คิดต่อจากสิ่งที่ตาเห็น และเมื่อใดที่เราได้หยุดพิจารณาในสิ่งนั้นอย่างตั้งใจ เพียงพริบตาภาพที่เห็นข้างหน้ากลับเปลี่ยนไป บริเวณผืนเฟรมสีขาวที่เคยว่างเปล่าได้ปรากฏพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่ศิลปินใช้เทคนิควาดเส้นลงบนหลังเฟรม การเกิดขึ้นของภาพด้วยระบบการทำงานของเซ็นเซอร์และหลอดไฟที่ถูกติดตั้งเข้าไปในผลงานเพื่อสะท้อนภาพที่เคยถูกปกปิดนั้น เป็นสื่อในการนำเสนอแนวความคิดในเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธาที่สังคมมีต่อพุทธศาสนา ภาพสีเหลืองทองที่เราเคยตั้งข้อสงสัยในแรกเห็น ได้ถูกตอบคำถามโดยทองคำเปลวที่ติดอยู่กับพระพุทธรูป ซึ่งดูแล้วเสมือนมีใครจงใจนำหน้ากากสีทองมาใส่ในรูปทรงของพระพักตร์แห่งองค์พระปฏิมา สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ศิลปินใช้คำว่า “มายาคติ”
หากผู้อ่านท่านใดยังคงสงสัยและสนใจในความหมายของคำคำนี้ ผู้เขียนขอแนะนำหนังสือที่มีชื่อว่า “มายาคติ” ซึ่งเป็นหนังสือแปลที่รวบรวมบทความของ โรล็องด์ บาร์ตส์ นักสัญศาสตร์วรรณกรรมชาวฝรั่งเศส แปลโดยคุณวรรณพิมล อังคศิริสรรพ ที่ได้กล่าวถึงความหมายของ “มายาคติ”ว่า“หมายถึง การสื่อความหมายด้วยคติความเชื่อทางวัฒนธรรมแต่ถูกกลบเกลื่อนให้เป็นที่รับรู้เสมือนว่าเป็นธรรมชาติ มายาคตินั้นทำงานด้วยการเข้าไปครอบงำความหมายเชิงผัสสะและประโยชน์ใช้สอยของสรรพสิ่ง แล้วทำให้มันสื่อความหมายใหม่ในอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นความหมายเชิงค่านิยมและอุดมการณ์” จากข้อความข้างต้นจึงเป็นเสมือนต้นความคิดที่ศุภวัฒน์นำมาใช้บอกเล่าเรื่องราวผ่านผลงานศิลปะของตน ซึ่งแนวความคิดและรูปแบบของผลงานอาจมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาตามวุฒิภาวะและประสบการณ์การรับรู้ของศิลปิน เพราะในการทำงานศิลปะคงไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่วันนี้ ตอนนี้ หรือพรุ่งนี้เท่านั้น แต่คงต้องใช้ระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ นี่คือสิ่งที่ศุภวัฒน์ทิ้งท้ายไว้กับผู้เขียน

สุนทรี เฉลียวพงษ์, Spiritual Signs, จิตรกรรมผสม, 140 x 150 ซม.

ผลงานของสุนทรี เฉลียวพงษ์ นักศึกษาปริญญาโทชั้นปีที่ 2 จากสถาบันเดียวกัน เป็นอีกหนึ่งผลงานที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ด้วยวิธีการนำผ้าซึ่งเป็นวัสดุที่เธอคุ้นเคยเข้ามาใช้ การนำวัสดุ ผูกโยงกับประสบการณ์ และช่วงอารมณ์ต่างๆ ได้แสดงออกมาสู่ผลงานสื่อผสม สีขาวดำและร่องรอยการต่อผ้า แสดงความหมายถึงความสงบ ลึกลับ หรืออะไรบางอย่างที่ชวนค้นหาสิ่งเหล่านั้นคงไม่จำเป็นต้องตอบออกมาเป็นคำพูด แค่คุณรู้สึกและรับรู้ในสุนทรียะของสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแค่นั้นก็คงจะเพียงพอ


เฉลิมพล รับขวัญ, การกิน, สีฝุ่น, 100 x 80 ซม.

ธนิษฐา นันทาพจน์, ความรู้สึกหมายเลข 2 (1), Digital print,Screen,Emboss ชุน 40x50 ซม.

ผลงานของกมลพันธุ์ โชติวิชัย, เฉลิมพล รับขวัญ, พูนชัย บุญเพ็ง,สำราญ ทองพริก, วราวัจน์ พิมพิสัย, ธนิษฐา นันทาพจน์, พิชาธร นวลได้ศรีฯลฯ แม้ทั้งหมดจะยังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีและผลงานยังเป็นช่วงศึกษาทดลอง แต่ฝีไม้ลายมือที่ฝากไว้ถือได้ว่าเป็นที่น่าจับตาไม่แพ้รุ่นพี่ หรือศิลปินหลายๆ ท่านเลย หากพวกเขายังคงมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะดำเนินชีวิต รับใช้จิตวิญญาณด้วยศิลปะอย่างมั่นคงแล้ว เส้นทางข้างหน้าคงไม่ไกลเกินฝัน
แม้นิทรรศการ “ศิลปะ ศิลปิน ศิลปากร” เสร็จสิ้นไปแล้ว ตั้งแต่วันที่22 ธันวาคม 2552 ที่ผ่ามา แต่ภาพแห่งความประทับใจในวิถีไทยและการอนุรักษ์ไทยให้คงอยู่ในจิตสำนึกของลูกหลานไทยต่อไปยังคงอยู่ งานดีๆอย่างนี้ ปีหน้าฟ้าใหม่จัดขึ้นที่ไหนผู้เขียนคงไม่พลาดข่าวมาฝากท่านผู้อ่านอย่างแน่นอน
***หมายเหตุ*** TITLE ของผลงานชิ้นนี้ คือ มายาคติ หมายเลข 6 (หน้ากาก) ผู้เขียนได้ให้สัมภาษณ์กับทางนิตยสารผิดพลาดเอง ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
ขอขอบคุณ : ที่มาของบทความ Fine Art magazine
Exhibition Review Text and photo: อุษาวดี ศรีทอง
The art news magazine of Thailand

1 ความคิดเห็น:

  1. topเขียนลงblogให้เเล้วนะลองอ่านดูนะ

    http://24hrsartcriticism.blogspot.com

    ตอบลบ